บ้านอันเป็นมงคลหลังนี้ เจ้าสัวล่อแชเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ได้ปรากฏในตำนาน แต่คาดว่าคงจะมีอายุเกิน 150 ปี และเป็นมงคลตกทอดมายังลูกชายคนโตของเจ้าสัวล่อแช คือ หลวงวารีราชายุกต์ (โป๊) และต่อมาจึงตกทอดไปยังลูกชายของหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊)ทั้งสองคน คือ ฮง และหลวงวารีราชายุกต์ (ซิ่ว) ตามลำดับ ซึ่งลูกชายทั้งสองได้เสียชีวิตไปก่อน บ้านโปษ์กี่จึงได้ตกทอดมายังลูกชายคนเล็ก คือ มหาอำมาตย์ตรีพระยาพิพัฒนากร (ฉิม)
ชื่อบ้าน “โปษ์กี่” เจ้าสัวล่อแซเป็นผู้ตั้งซึ่งมีความหมายในภาษาจีนลึกซึ้งมากคือ
“โปษ” มาจากคำว่า “โป๊ว” มีความหมายว่า ประเสริฐสุด ล้ำค่า
“กี่” มีความหมายว่า สิ่งที่เป็นมงคลควรจดจำ
ฉะนั้นคำว่า“โปษ์กี่” จึงมีความหมายรวมกันว่า “บ้านที่เป็นมงคล มีมูลค่าล้ำเลิศอันควรจดจำ”
หลังจากกิจการค้าขายในประเทศได้เจริญรุ่งเรืองมาพอสมควร เจ้าสัวล่อแชจึงได้ทำการค้าขายกับประเทศจีนโดยส่งสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยไปขายโดยเรื่อสำเภาขนาดใหญ่ ในเที่ยวกลับก็ได้ขนวัสดุก่อสร้าง และสินค้าอื่นๆ เพื่อเป็นอับเฉากันเรือโคลงมายังประเทศไทย วัสดุก่อสร้างส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้าง “บ้านโปษ์กี่”
นอกจากวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ที่มาจากประเทศจีนแล้ว การออกแบบ การควบคุมการก่อสร้าง แม้ะทั่งฤกษ์ยามต่างๆ ได้แก่ เวลาลงเสาเข็ม ยกอกไก่ ใส่บานประตูใหญ่ ก็ถูกกำหนดโดยช่างชาวจีนทั้งสิ้น
เรื่องหนึ่งตามตำนานได้เล่าว่า บานประตูใหญ่หน้าบ้านเป็นไม้ ออกแบบและก่อสร้างโดยช่างชาวจีน บานประตูไม่มีบานพับ แต่ใช้เดือยล่างและบนเป็นตัวยึด ช่างไม่สามารถยกประกอบเข้าที่ได้ ในที่สุดต้องกลับไปดูฤกษ์เวลาที่กำหนดไว้ จึงพบว่าช่างได้ทำก่อนเวลา 2 ชั่วโมง จึงต้องรอให้ถึงเวลา พอได้ฤกษ์เวลาจึงได้ยกบานประตูทั้งสองใส่ได้โดยสะดวก
บ้านโปษ์กี่เป็นบ้านแบบจีนขนาดใหญ่ มีผู้คนอาศัยกันกว่า 100 ชีวิตอย่างมีความสุข จนกระทั่งลูกหลานถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แยกย้ายกันออกไปมีครอบครัวอยู่ภายนอกแล้ว ยังได้รับความเป็นศิริมงคลของบ้านโปษ์กี่ พร้อมด้วยคำสั่งสอนของบรรพบุรุษที่ได้ให้ไว้อันเป็นมรดกที่ล้ำค่าที่สุดในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขมาถึงลูกหลานจนถึงเจ็ดชั่วคน จนถึงทุกวันนี้ (พ.ศ. 2555)
ระหว่างที่บ้านโปษ์กี่อยูในความดูแลของ พระยาพิพัฒนธนากร ท่านได้ปลูกตึกใหม่เพิ่มเติมอีกหลัง และได้บำรุงรักษาบ้านโปษ์กี่ให้อยู่ในสภาพเดิมตลอดเวลา หลังจากสิ้นบุญของท่านแล้ว บ้านโปษ์กี่ก็ได้ตกทอดมาอยู่ในความดูแลของลูกชายท่านคือ ศาสตราจาย์พิพัฒน์ โปษยานนท์ ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของนายธีรธัช โปษยานนท์ บุตรชายคนโตของ ศาสตราจาย์พิพัฒน์ โปษยานนท์