ประวัติความเป็นมา
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีนโยบายเปิดประเทศเพื่อให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาช่วยพัฒนาบ้านเมือง จึงมีชาวจีนจากโพ้นทะเลใต้หนีความยากจนเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “เจ้าสัวล่อแช แซ่กิม”
ตามประวัติที่จดจำสืบต่อกันมา เจ้าสัวล่อแช แซ่กิม (แซ่กิม เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า “ทอง” หรือ “ทองคำ” ) ซึ่งเป็นต้นสกุลโปษยานนท์เกิดที่มณฑลกวางตุ้ง ตำบลโล่งโตว อำเภอเพ่งกุ้ย จังหวัดเตี้ยจิวฮู้ มีพี่น้อง 2 คน ครอบครัวประกอบอาชีพกสิกรรม เจ้าสัวล่อแชผู้น้องได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารประมาณปี พ.ศ. 2360 โดยเรือกำปั้นใบ
หลังจากได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว นายล่อแชได้ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร สามารถเก็บออมเงินได้จำนวนหนึ่งจึงได้ลงทุนซื้อเรือเพื่อใช้สำหรับการค้าขายตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดใกล้เคียง ภายหลังได้พบกับนางสาวอิ่ม ที่จังหวัดอ่างทองจึงรับมาเป็นภรรยา และได้ช่วยกันค้าขายมีทุนทรัพย์พอสมควรจึงได้สร้างแพเป็นที่อยู่อาศัยจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งธนบุรีเหนือวัดทองธรรมชาติ และต่อมาได้ซื้อที่บริเวณที่แพจอดและสร้างบ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งชื่อว่า “โปษกี่”
เจ้าสัวล่อแชและนางอิ่มมีบุตรและธิดา รวม 5 คน ชื่อ ฉุน สุ่น แก้ว โป๊ และ เกี้ยม ต่อมาลูกหลานของทั้ง 5 ท่านได้สืบตระกูลและเกี่ยวดองกับหลายตระกูล เช่น โชติกเสถียร ปันยารชุน สารสิน บุนนาค ล่ำซำ หวั่งหลี บุลสุข จาติกวนิช เปาโรหิตย์ ลพานุกรม กอวัฒนา ณ สงขลา ภัทรนาวิก และ โปษยานนท์ เป็นต้น
สำหรับพระยาพิพัฒนธนากรนั้น ท่านเป็นบุตร พระยาพิพัฒนธนากร เป็นบุตรของหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊ โปษยานนท์) มารดาชื่อท่านเสงี่ยม เป็นบุตรีพระยาภักดีภัทรากร (ตระกูลภัทรนาวิก) เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2426 ณ บ้าน “โปษ์กี่” ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี
ในวัยเยาว์ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากจีนซินแสที่เจ้าสัวล่อแชจ้างมาสอนหนังสือจีนให้ที่บ้าน พออายุ 9 ขวบ ท่านก็ถูกส่งตัวไปเล่าเรียนในประเทศจีน ที่บ้านเอ้าเคยกิม ตำบลแต้จิ๋ว แต่เรียนได้แค่ 3 ปี ถึงพ.ศ. 2437 บิดาก็เรียกตัวกลับมาเมืองไทย เมื่ออายุ 12 ปี และเข้าเรียนต่อในโรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อออกจากโรงเรียนก็ไปฝึกทำงานที่ห้างบอเนียวกำปนี เป็นเวลา 1 ปี จนอายุครบ 20 ปี จึงลาออกมาอุปสมบท ในพ.ศ. 2446 ที่วัดทองนพคุณ
พอครบพรรษาก็สึกออกมาทำงานกับบิดาประมาณได้ 3 ปี เมื่อ พ.ศ. 2450 หม่อมเจ้าปิยะภักดีก็ให้คนมาตามท่านไปรับราชการที่กรมฝิ่น (กรมสรรพสามิต) ทรงแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองคลังรักษาฝิ่น และควบคุมกองบรรจุฝิ่นใส่อับ ได้รับพระราชทานเงินเดือนเริ่มต้นเดือนละ 300 บาท โดยดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นอธิบดี และได้รับพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากร
จนกระทั่ง ในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสกุลนี้ให้หลวงพิพัฒนธนากร สังกัดกระทรวงมหาสมบัติ ว่า “โปษยานนท์” เป็นนามสกุลอันดับที่ 686 พระราชทานเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2456
นอกจากนี้ ตามคำบอกเล่าของบุตรและธิดาของท่าน ยังปรากฏผู้ที่ใช้นามสกุล “โปษยานนท์” ที่มิได้เกี่ยวดองทางสายโลหิตอีกสาย คือ ขุนโปษยานนท์นิพัทธ (นามเดิม ชื่อ สวน ไม่ปรากฏว่าบิดาและมารดาชื่อเสียงเรียงใด) ขุนโปษยานนท์นิพัทธนั้นเข้ารับราชการอยู่ในกรมฝิ่นและติดสอยห้อยตามท่านพระยาพิพัฒนธนากรมาตลอด เมื่อได้รับยศเป็น ขุนโปษยานนท์นิพัทธแล้ว นายสวนจึงได้ขออนุญาตจากท่านพระยาพิพัฒนธนากรใช้นามสกุลจากยศว่า “โปษยานนท์” โดยท่านพระยาพิพัฒนธนากรได้อนุญาตให้ใช้ ต่อมาขุนโปษยานนท์นิพัทธได้สมรสกับนางนิ่ม พำนักอยู่ตลาดน้อย และย้ายมาอยู่ละแวกสีลม หลังเกษียณราชการก็ประกอบอาชีพทำมาค้าขาย ซึ่งลูกหลานของขุนโปษยานนท์นิพัทธ มีความซาบซึ้งในความเมตตากรุณาของท่านพระยาพิพัฒนธนากรที่อนุญาตให้ใช้นามสกุลร่วมกับท่านหาอย่างหาที่สุดมิได้
มูลนิธิโปษยานนท์
มูลนิธิ ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นโดย มหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากร (ฉิม โปษยานนท์) และได้ทำการ จดทะเบียน ที่ ศาลากลางจังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2480 โดยมีผู้จัดการ 2 ทาน คือ พระยาพิพัฒนธนากร และหลวงบำรุงราชนิยม (สุ้นเบ้ง สิงคาลวนิช) มีที่ตั้งมูลนิธิ ที่บ้าน สิงคาลวนิช หมู่ที่ 14 สพานจีน ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอ บางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี วัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวม และ จัดหารายได้ไว้ประกอบการกุศลและ การสาธารณะประโยชน์ เพื่อบำเพ็ญ และ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ต้นตระกูล “โปษยานนท์” ซึ่งมีสถานที่ฝังศพอยู่ที่จังหวัดชลบุรี