สุสานโปษยานนท์
ภายหลังจากที่ท่านเจ้าสัวล่อแชได้เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย จนตั้งฐานะได้เป็นปึกแผ่นแล้ว ท่านได้ตกลงใจจะฝักรกรากอยู่ในเทศไทยไม่กลับประเทศจีน แม้ในสมัยนั้น ชาวจีนจะนิยมนำศพกลับไปฝังประเทศจีนก็ตาม แต่ท่านเจ้าสัวล่อแชอยากจะให้ลูกหลานซึ่งเกิดในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยได้มีโอกาสเซ่นไหว้ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษอย่างสะดวกและเป็นคนไทยเต็มบริบูรณ์ จึงได้ดำริสร้างที่ฝังศพในประเทศไทย โดยสั่งซินแส (ผู้รู้) มาจากประเทศจีน ซึ่งเห็นจะเป็นเพราะไม่มีผู้รู้ที่พอไว้ใจได้ในประเทศไทยในขณะนั้น อนึ่งการสร้างที่ฝังศพ ซึ่งจีนเรียกว่า “ฮวงจุ้ย” นี้ ต้องดูที่สร้างให้ถูกต้องตามลักษณะ ประเพณีจีนถือว่า ถ้าสร้างฮวงจุ้ยถูกต้องตามลักษณะ ลูกหลานจะเจริญ ถ้าสร้างไม่ถูกลูกหลานจะตกอับ ฮวงจุ้ยแปลตามศัพท์ได้แก่ลมบวกด้วยน้ำ (ฮวง = ลม, จุ้ย = น้ำ) หมายความว่าต้องสร้างในที่ๆ ถูกต้องด้วยทางน้ำ และทิศลมตามตำรา และยังมีคำกล่าวว่าต้องมีภูเขาอยู่ข้างหลังด้วย เป็นความหมายว่า มีภูเขารับอยู่เบื้องหลังตระกูลจะไม่ล้ม เพราะมีภูเขายันไว้ มีน้ำอยู่ด้านหน้าซึ่งมีความหมายว่า ทรัพย์สินเงินทองจะไหลมาเทมา ส่วนถูกทิศลมหมายความว่า ตระกูลจะอยู่เย็นเป็นสุข
ซินแสที่สั่งเข้ามานี้ชื่อ จินเต็ก ซินแสให้ไปสำรวจที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดระยอง (เห็นจะเป็นภูมิประเทศมีภูเขา) แต่ไม่พบที่ๆ ถูกใจ ขากลับได้เดินทางผ่านมาทางจังหวัดชลบุรี และพักอยู่ที่บ้านของตระกูลสิงคารวานิช เพราะตระกูลนี้กับตระกูลโปษยานนท์รักใคร่สนิทสนมกันดังจะกล่าวในตอนหลัง ซินแสทำการสำรวจที่จังหวัดชลบุรีอีก ไปพบที่แห่งหนึ่งในตำบลหัวโกรก ที่แปลงนี้อยู่ในป่า ห่างตัวจังหวัดหลายกิโลเมตร เวลานั้นไม่มีถนน ซินแสต้องบุกป่าไป ได้ตรวจดูทำเลที่แปลงนี้แล้ว เป็นที่ต้องใจอย่างยิ่ง ซินแสจึงปักใจลงแน่วแน่ว่าจะต้องให้สร้างฮวงจุ้ยในที่แปลงนี้ จะหาที่ใดที่ได้สำรวจมาแล้ว ทั้งสามจังหวัดดีเท่าที่แปลงนี้หาได้ไม่
แต่คนที่รู้เรื่องสร้างฮวงจุ้ยเท่าซินแสยังมีอยู่ ปรากฏว่าที่ๆ พบนี้ ไม่ใช่ที่ว่างเปล่า แต่มีชายคนหนึ่งชื่อจีนเก่ง ได้จับจองทำไร่และนาอยู่ในที่แปลงนี้แล้ว สอบถามได้ความว่า จีนเก่งไม่มีความประสงค์จะขาย เพราะที่อุตส่าห์เข้าไปอยู่ในป่าเช่นนั้น ก็เพื่อจับจองที่แปลงนี้ไว้สำหรับฮวงจุ้ยของตนเอง ร้อนถึงต้องหาผู้ใหญ่ที่จีนเก่งเกรงใจไปเจรจา จึงตกลงกันได้ โดยจีนเก่งขอข้อไขว่า ถ้าจีนเก่งถึงแก่กรรม ทางฝ่ายท่านเจ้าสัวล่อแชจะต้องจัดการฝังศพของจีนเก่งไว้ในที่แปลงนี้ด้วย และก็ได้ฝังจีนเก่งในที่แปลงนี้ตามสัญญา ซึ่งทางฝ่ายตระกูลโปษยานนท์ได้ไปไหว้ฮวงจุ้ยจีนเก่งทุกปี ในเมื่อไปไหว้ฮวงจุ้ยท่านเจ้าสัวล่อแช
เมื่อเรื่องที่เรียบร้อยแล้ว ซินแสจินเต็ก จึงลงมือทำการก่อสร้างฮวงจุ้ย เพื่อเตรียมไว้สำหรับฝังท่านเจ้าสัวล่อแช ท่านผู้อ่านคงจะนึกภาพได้ว่าการก่อสร้างในป่าเช่นนี้ ต้องลำบากยากยิ่งเพียงไร ในการก่อสร้างนี้มีเรื่องที่เล่าสู่กันฟังมาเป็นทอดๆ ในตระกูลโปษยานนท์หกเรื่องคือ
เรื่องที่หนึ่ง ในการวินิจฉัยว่าจะวางตัวฮวงจุ้ยที่ตรงไหนในที่แปลงนี้ จะเป็นเพื่อทดลองภูมิหรืออะไรก็แล้วแต่ ซินแสได้ตามจีนเก่งว่าตัวจีนเก่งได้กะไว้จะฝังตนเองที่ตรงไหน จีนเก่งได้ขี้โม้ กล่าวกันว่าซินแสถึงกับนิ่งอึ้ง เพราะเป็นที่ๆ ซินแสเองกำหนดไว้ในใจไม่ผิดพลาด แต่เห็นจะเป็นเพื่อรักษาภูมิ ซินแสได้โต้แย้งว่าไม่ถูกทีเดียว ต้องขยับนิดหน่อย ผลของการขยับมีผู้รู้กล่าวว่าทำให้ลูกหลานของท่านเจ้าสัวล่อแชบางสายไม่เจริญเท่าที่ควร แต่นี่ก็เป็นแค่คำกล่าวเท่านั้น
เรื่องที่สอง หน้าตรงที่ๆ สร้างฮวงจุ้ยนี้มีลำธารเล็กๆ อยู่สายหนึ่ง ตั้งแต่แรกจนบัดนี้เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว มีน้ำในลำธารนี้มีไหลอยู่เสมอตลอดปี ไม่เคยแห้งเลย แม้จะเป็นลำธารที่เล็กและไม่ลึก น้ำในลำธารนี้ก็ใสสะอาด แต่อุปโภคบริโภคไม่ได้ เล่ากันว่าในระหว่างก่อสร้างฮวงจุ้ย ขั้นแรกใครลงไปอาบหรือรับประทานน้ำในลำธารนี้ไม่ได้ โดยอาบแล้วเป็นผื่นคัน รับประทานแล้วมึนเมา ทั้งนี้เป็นอุปสรรคแก่การก่อสร้างอย่างยิ่ง หากแก้ไม่หายก็หมดหวังที่จะหาคนงานมาทำการก่อสร้างได้ ใกล้ที่นั้นมีศาลเจ้าเจียวกัวแป๊ะ ซึ่งเป็นที่นับถือของคนแถบนั้น ผู้รู้เล่าว่า ศาลเจ้าเจียวกัวแป๊ะนี้มีทุกจังหวัดที่มีคนจีนอาศัย ไปทำมาหากิน ซินแสหรือผู้แทนได้ไปขอให้คนทรงเข้าทรงเจ้าเจียวกัวแป๊ะ เจ้าเจียวกัวแป๊ะรับแก้ไขให้ โดยเอาขี้ธูปในกระถางธูปหน้าที่บูชาไปโรย เล่ากันว่า เมื่อโรยแล้ว อาบและรับประทานน้ำในลำธารนั้นได้ ไม่เป็นผื่นคันและไม่มึนเมา พวกตระกูลโปษยานนท์ เวลาไปไหว้ฮวงจุ้ยท่านเจ้าสัวล่อแช ได้แวะไหว้เจ้าเจียวกัวแป๊ะเสมอ
เรื่องที่สาม ประเพณีมีว่าในระหว่างก่อสร้างฮวงจุ้ย ใครจะเรียกชื่อซินแสซึ่งควบคุมก่อสร้างนั้นไม่ได้ ซินแสจะต้องถึงแก่กรรม มีคนงานคนหนึ่งไม่เชื่อและอยากจะทดลอง เย็นวันหนึ่งได้ขึ้นไปยืนบนกองดิน ตะโกนเรียกชื่อซินแสว่า “จินเต็กๆ” สามคำ จะเป็นเพราะอะไรก็ไม่สามารถยืนยันได้ อาจเป็นเพราะซินแสกำลังใจเสียก็เป็นได้ ซินแสได้ล้มเจ็บตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซินแสได้สั่งไว้ว่า เมื่อถึงแก่กรรมลงขอให้เอาศพฝังไว้ในที่ตอนใดตอนหนึ่งในที่แปลงนั้นด้วย เจ็บสักเดือนหนึ่งซินแสก็ถึงแก่กรรม และได้ฝังไว้ในที่แปลงนั้นดังที่ขอร้อง จึงเป็นที่ฝังศพอีกแห่งหนึ่งที่ตระกูลโปษยานนท์ไปไหว้ด้วย
เมื่อท่านเจ้าสัวล่อแชและคุณอิ่มภริยาถึงแก่กรรม ก็ได้นำศพท่านทั้งสองไปฝังไว้ ณ ฮวงจุ้ย ตำบลหัวโกรกที่เตรียมสร้างไว้แล้วนี้ คุณหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊) ซึ่งเป็นบุตรชายและเป็นผู้สืบตระกูลได้ออกไปเซ่นไหว้ตามประเพณีปีละครั้ง เสมอมาทุกปีมิได้ขาด และนำบุตรชายของท่านเองไปด้วยทุกครั้ง เพื่อจะได้รับช่วงต่อไปในเมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้ว ได้กล่าวไว้แล้วในประเพณีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ (สุสานโปษยานนท์)
เรื่องที่สี่ เมื่อครั้งที่ พ.อ.ต.พระยาพิพัฒนธนากร ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2497 ก็ได้ตั้งโกศพระราชทานบรรจุศพท่านที่บ้านโบสถ์ เพื่อทำพิธีทางศาสตร์ อุทิศส่วนกุศลให้ท่าน แล้วจึงเคลื่อนศพของท่านไปสุสานโปษยานนท์ ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งชาวจังหวัดชลบุรีได้ออกมาเคารพศพท่านตลอดทาง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2497 และได้ตั้งศพท่านเพื่อบำเพ็ญกุศลที่ศาลาในสุสานฯ ในเช้าวันที่ 17 ตุลาคม 2497 ให้เคลื่อนศพท่านไปตั้งที่ฮวงซุ้ยของท่าน เพื่อเตรียมบรรจุตามธรรมเนียมจีน ซินแสได้บอกว่า เพื่อความเป็นมงคลของวงศ์ตระกูล จะต้องรอให้มีสีขาวและสีแดง ปรากฏให้เห็นก่อน จึงจะทำพิธีบรรจุได้ รออีกไม่นานก็ได้มีกระบือเผือกวิ่งผ่านมาและอีกไม่นานต่อมาก็ได้มีรถเก๋งสีแดงของท่านผู้หญิงละเอียดพิบูลสงคราม (ภรรยาอดีตนายกรัฐมนตรี ป.พิบูลสงคราม) ได้เดินทางเข้าร่วมพิธีด้วย ซินแสจึงได้เริ่มพิธีบรรจุศพทันที เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่งที่ได้ตรวจสอบชาวบ้านใกล้เคียงแล้ว ไม่มีใครเลี้ยงและเห็นกระบือสีขาวในบริเวณนั้นเลย
เรื่องที่ห้า ในการบูรณะฮวงจุ้ยของหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊) คนงานได้ขุดพบถ้วยชามสมัยโบราณ บริเวณใกล้ที่บรรจุศพ และได้นำเอามากองไว้ข้างนอก โดยมิได้บอกกล่าวเจ้าของ ตอนกลางคืน ระหว่างที่คนงานนอนพักผ่อนที่ศาลาได้เห็นคนจีนไว้ผมเปียยาว นั่งอยู่นอกมุ้ง รุ่งเช้าจึงได้กลับไปไว้ที่เดิม พร้อมทั้งจุดธูปขอขมา
เรื่องที่หก หลังจากปรับปรุงบ่อน้ำ 2 บ่อ หน้าฮวงจุ้ยหลวงวารีราชายุกต์ และท่านเจ้าคุณพิพัฒนธนากรให้เป็นบ่อใหญ่บ่อเดียว โดยคำแนะนำของซินแส ขณะคุณธะเรศกำลังปรึกษากับผู้รับเหมาถึงการปรับปรุงกันขอบบ่อทะลายเนื่องจากพื้นที่เป็นดินทราย ในเวลาค่อนถึงเย็นแล้วก็มีรถยนต์ของกรมพัฒนาที่ดินขับมาจอดที่ด้านหน้าฮวงจุ้ยของหลวงวารีราชายุกต์ โดยเจ้าหน้าที่ที่มาด้วยได้เสนอให้หญ้าแฝกประมาณ 20,000 ต้น และจะจัดคนมาแนะนำวิธีการปลูกให้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่มิได้นำมาบรรยาย ณ ที่นี้ เรื่องทั้งหมดอาจจะเน้นเรื่องของการ “บังเอิญ” ก็ได้ ขอให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณเอาเอง
จังหวัดชลบุรีและจังหวัดพระนครในขณะนั้น ไม่มีถนนติดต่อกันเช่นปัจจุบัน ซ้ำในตอนแรกๆ เรือยนต์เรือไฟเดินเมล์ก็ไม่มี การเดินทางคือต้องไปโดยเรือแจวบ้างเรือใบบ้าง เมื่อถึงตัวจังหวัดแล้ว ก็ยังต้องเดินทางเข้าไปในป่าโดยเกวียนบ้างม้าบ้างเดินเท้าบ้าง แต่ทุกคนก็มิได้นึกถึงความลำบาก ยังคงยึดมั่นในประเพณีการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษโดยสม่ำเสมอตลอดมา นับว่าเป็นโชคอันประเสริฐของตระกูลโปษยานนท์อยู่อย่างหนึ่งที่ “ตระกูลสิงคาลวณิช” อันเป็นตระกูลใหญ่ของจังหวัดชลบุรีกับตระกูลโปษยานนท์รักใคร่นับถือดุจญาติ ดังจะเห็นได้สืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ คือ คุณหลวงบำรุงราชนิยม (สุ่นเป็ง สิงคาลวณิช) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของตระกูลสิงคาลวณิชได้ให้ความเอื้อเฟื้อในการไปไหว้ฮวงจุ้ยตลอดมา มีการให้ที่พัก จัดเครื่องเซ่น จัดพาหนะให้ตามความจำเป็น แม้ในการนำศพท่านเจ้าคุณพิพัฒนธนากรมาฝัง ก็ได้ให้ความกรุณาเช่นเคย พระคุณเหล่านี้สมควรบันทึกไว้ เพื่อตระกูลโปษยานนท์รุ่นหลังจะได้ทราบทั่วกัน เรื่องราวต่างๆ ที่เขียนนี้ แม้จะได้มีการเล่ากันมาเป็นทอดๆ ก็ดี แต่ที่ได้ละเอียดและถี่ถ้วน ก็โดยคุณหลวงบำรุงราชนิยมท่านได้กรุณาทบทวนให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง
ตามประเพณี การเซ่นไหว้ฮวงซุ้ยกระทำกันในวันเช็งเม้ง (ตรงกับวันที่ 5 เมษายน) หรือวันสารทตังเจ้ย (ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม หรือถ้าปีใดมี 366 วันก็ตรงก็ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม ไทยเรียกสารทจีนนี้ว่าสารทขนมอี๋) ส่วนมากถือเอาวันเช็งเม้ง ดังจะเห็นได้จากชาวจีนไปไหว้ที่ฝังศพที่วัดกันในตอนวันนั้นอย่างหนาแน่น ทางตระกูลโปษยานนท์ถือเอาวันสารทตังเจ้ย เพราะก่อนๆ การเดินทางไปจังหวัดชลบุรีต้องไปโดยเรือแจวเรือใบดังกล่าวแล้ว วันเช็งเม้งเป็นฤดูที่ทะเลมีคลื่น ไม่สะดวกแก่การเดินทาง ส่วนวันสารทตังเจ้ยเป็นฤดูที่คลื่นลมสงบ แม้เมื่อมีถนนกิ่งจังหวัดชลบุรีแล้วนี้ ก็ยังคงถือวันเดิมต่อไป
ต่อมาในสมัยหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊) ท่านได้ดำริเห็นว่า ถ้าหากไม่เอาศพท่านไปฝังไว้กับท่านบิดามารดาแล้ว ต่อไปลูกหลานซึ่งไม่รู้จักและไม่เคยเห็นท่านบิดามารดาของท่าน ก็อาจจะละเลยไม่ไปเซ่นไหว้ท่านบิดามารดาของท่านต่อไปตามประเพณี เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอีกเปลาะหนึ่ง ท่านจึงได้จัดให้สร้างฮวงจุ้ยสำหรับท่านและเสงี่ยมภริยาขึ้น ในการนี้ได้สั่งซินแสมาจากประเทศจีนเช่นเดียวกัน ซินแสผู้นี้ชื่ออะไรไม่มีใครจำได้ ซินแสเลือกได้ที่ตำบลหนองเสือตาย จังหวัดชลบุรี ซึ่งไม่ไกลฮวงจุ้ยยท่านบิดามารดากี่มากน้อย ที่ต้องเลือกที่ใหม่เห็นจะเป็นเพราะพื้นที่มีที่เหลือพอจะสร้างได้อีก หรือมีเหลือพอก็ไม่ถูกลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่ง การเลือกที่คราวนี้ไม่ลำบากเช่นคราวก่อนเพราะท่านแสดงความประสงค์ว่าจะต้องใกล้กับฮวงจุ้ยท่านบิดามารดา เพื่อให้การสร้างฮวงจุ้ยและฝังท่านได้ผลในทางลูกหลานมาไหว้ได้สะดวก ฮวงจุ้ยท่านบิดามารดาดังกล่าวแล้ว เมื่อท่านและเสงี่ยมภริยาถึงแก่กรรมก็ได้นำมาฝังไว้ ณ ฮวงจุ้ยนี้
เมื่อคุณหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊) ล่วงลับไปแล้ว ท่านเจ้าคุณพิพัฒนธนากรได้ปฏิบัติตามประเพณีโดยไปเซ่นไหว้ตลอดมาทุกปีไม่เคยขาด เว้นแต่ปีเดียวซึ่งท่านติดราชการไม่สามารถปลีกตัวไปได้จึงได้ให้ลูกชายไปแทน ท่านเจ้าคุณพิพัฒนธนากรก็ดำริเช่นเดียวกับท่านบิดา จึงได้สั่งไว้ให้ฝังศพท่านที่ฮวงจุ้ย ตำบลหนองเสือตาย นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นการผูกมัดลูกหลานยิ่งขึ้นท่านได้จัดสร้างที่บรรจุกระดูกขึ้น นำเอากระดูกบรรพบุรุษเท่าที่มีอยู่และกระดูกของนายฮง โปษยนานนท์ พี่ชายท่านมาบรรจุไว้ และเมื่อนางสาวสังวาลย์ โปษยานนท์น้องสาวท่านถึงแก่กรรม ท่านก็ได้สร้างสถานที่และนำศพมาบรรจุไว้เช่นกัน เมื่อยังมีชีวิต ท่านเคยปรารภว่าท่านสิ้นลงเมื่อใด ขอให้ได้อยู่ใกล้ท่านบิดามารดาและสนองต่อคุณท่านต่อไป
มีฮวงจุ้ยอีกสามแห่งที่พวกตระกูลโปษยานนท์ต้องรวมไปเซ่นไหว้เป็นการประจำปีคือ ฮวงจุ้ยที่ริมคลองบางปลาสร้อย (ข้างสถานีตำรวจในตัวจังหวัด) จะเป็นฮวงจุ้ยใคร ไม่มีผู้รับทราบ คุณหลวงบำรุงราชนิยมทราบแต่ว่าเป็นญาติทางนางวารีราชยุกต์ (เสงี่ยม) การฝังเอากระดูกไปฝัง เวลาฝังขุดพบกระดูก ไม่ทราบว่าเป็นกระดูกของใคร จึงได้ย้ายกระดูกนั้นไปฝังที่วัดเนินซึ่งเป็นวัดในตัวจังหวัดแต่ดูเหมือนจะร้างไปแล้ว บัดนี้ ไม่มีผู้ใดทราบที่ฝังแน่นอน แต่ไปเซ่นไหว้โดยยึดเอาจุดหนึ่งเป็นฮวงจุ้ยอีกแห่งหนึ่งที่ไปเซ่นไหว้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีฮวงจุ้ยที่ตำบลวัดป่า (ในตัวจังหวัดชลบุรี) ที่ไปไหว้ แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าฝังใครและเรื่องเป็นมาอย่างไร แต่ไปเซ่นไหว้กันเรื่อยมาที่ตั้งฮวงจุ้ยก็ไม่ทราบเป็นที่แน่นอน มีที่สังเกตเป็นมูลดิน เดี๋ยวนี้ที่ตรงนั้นก็มีผู้ถือกรมสิทธิ์แล้ว แต่เป็นผู้ที่รู้จักชอบพอกัน
ประเพณีไหว้ฮวงจุ้ยนี้ หากพิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว เห็นได้ว่ามีประโยชน์เพราะเป็นการเตือนใจให้ลูกหลานทุกคนระลึกถึงพระคุณของผู้บุพพการี ให้คิดถึงวงศ์ตระกูลเป็นกำลังน้ำใจให้ประกอบกรรมที่ดีละเว้นกรรมที่ชั่ว ทำให้บรรดาผู้ที่อยู่ในตระกูลซึ่งนับวันจะมีมากและห่างกันออกไปทุกที ได้มีโอกาสพบปะสนทนากันอย่างน้อยปีละครั้ง และให้ผู้ที่อยู่ในตระกูลมีที่ยึดเหนี่ยวรักใคร่ร่วมสามัคคีกัน ด้วยเห็นถึงเหตุดังกล่าวแล้วนี้ พวกตระกูลโปษยานนท์จึงได้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดตลอดมา
โครงการปรับปรุง
ฮวงจุ้ยทั้งสามแห่งของเจ้าสัวล่อแช ของหลวงวารีราชาประยุกต์ และของท่านเจ้าคุณพระยาพิพัฒนธนากร ซึ่งได้ก่อสร้างมานานได้ชำรุดทรุดโทรมมาก เฉพาะอย่างยิ่งของเจ้าสัวล่อแช ซึ่งมีอายุกว่า 150 ปี และวัสดุที่ใช้กับคุณภาพการก่อสร้างก็ไม่ได้เท่าในปัจจุบัน ส่วนอีกสองฮวงจุ้ย (ล่าง) ก็เริ่มชำรุดทรุดโทรมมาก เนื่องจากมีน้ำซึมและอุ้มน้ำชื้นและตลอดเกือบทั้งปี
คณะกรรมการมูลนิธิโปษยานนท์ โดยความเห็นชอบของผู้สืบตระกูลทุกคน จึงมีมติให้ซ่อมบำรุง ฮวงจุ้ยทั้งสามให้มั่นคงแข็งแรง สวยงาม เพื่อเป็นสิ่งผู้มีจิตใจของผู้สืบสกุลต่อไปชั่วกาลนาน ดังนี้
ก. ให้หาผู้รู้เกี่ยวกับ การก่อสร้างและพิธีกรรมต่างๆ มา เช่น ผู้ให้คำปรึกษาและชี้นำวิธีการก่อสร้างให้ถูกต้องตามศาสตร์
ข. ให้รักษารูปแบบและอนุรักษ์ของเดิมไว้
ค. ให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ในบริเวณให้สวยงามกลมกลืนกับส่งก่อสร้างใหม่ให้มากที่สุด
ง. ได้มอบหมายให้นายธะเรศ โปษยานนท์ (รุ่น 5 อดีตกรรมการมูลนิธิฯ) เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ
นายธะเรศ โปษยานนท์ (รุ่น 5) มีความมุ่งมั่นอย่างสูงที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดได้จาก
ซินแส ผู้รู้เกี่ยวกับฮวงจุ้ย เป็นที่ปรึกษา ซินแสได้ให้ทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อขอขมาบุพการีเจ้าของฮวงจุ้ยทุกคนที่จะตรึงรื้อถอน หนึ่งในพิธีกรรม คือ ตรึงเอาเลือดของนายธะเรศไปฝังที่ฮวงจุ้ยจะรื้อถอน
ได้เริ่มงานที่ฮวงจุ้ยของหลวงวารรีราชายุกต์ก่อน โดยได้รื้อถอนส่วนก่อสร้างภายนอกออกทั้งหมด จนถึงซองบรรจุศพ จากนั้นจึงทำรากฐานทุกส่วนให้มั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม และงานแต่งด้วยหินขัด พร้อมด้วยลวดลายจีนอย่างสวยงาม แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550
นอกจากนั้น ยังทำระบบระบายน้ำบริเวณหน้าฮวงจุ้ย เพื่อไม่ให้ท่วมและบริเวณดังกล่าวต่อไป ส่วนงานปรับปรุงภูมิทัศน์ได้ขุดบ่อและตกแต่งบริเวณโดยรอบ พร้อมทั้งปลูกต้นไม้เพื่อความสวยงามด้วย รวมทั้งป้ายชื่อ “สุสานโปษยานนท์” เป็นการถาวร
หลังจากนั้นจึงได้เริ่มงานที่ฮวงจุ้ยของเจ้าสัวล่อแช ได้ดำเนินงานในลักษณะเดียวกันและได้อนุรักษ์ของเก่าทั้งหมดที่มาจากเมืองจีนและนำกลับมาใช้ตกแต่งใหม่ให้สวยงามยิ่งขึ้น การก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2551
ส่วนของท่านเจ้าคุณพระยาพิพัฒนธนากร ได้แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2552
ในการปรับปรุงและการก่อสร้างของฮวงจุ้ยทั้งสาม ซินแสได้ปรับรูปลักษณ์ด้วยเครื่องมือทันสมัยให้ถูกต้องตามศาสตร์ของจีนและได้ปรับองศาป้ายชื่อหน้าฮวงจุ้ยทั้งสามให้ถูกต้อง ดังนี้
ของเดิม ตั้งใหม่
ฮวงจุ้ยเจ้าสัวล่อแช 130° sw 137.8° sw
ฮวงจุ้ยหลวงวารีราชายุกต์ 127° sw 131° sw
ฮวงจุ้ยท่านเจ้าคุณพระยาพิพัฒนธนากร 146° sw 147.2° sw
ศาลาโปษยานนท์ ศาลาที่อยู่ในบริเวณสุสานโปษยานนท์ ตำบลหนองเสือตาย ศาลานี้มีที่บรรจุอัฐิของลูกหลาน และยังเป็นที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาและเซ่นไหว้ เช่นศาลาเก่าแก่ทรุดโทรมมาก คณะกรรมการมูลนิธิโปษยานนท์โดยความเห็นชอบของลูกหลานทุกคน จึงมีมติให้บูรณะปรับปรุง รูปลักษณ์และความคงทน เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อีกยาวนาน โดยใช้งบประมาณจากมูลนิธิฯ รวมกัน เงินที่ได้รับบริจาคจากผู้ร่วมตระกูล และได้นายพีร์ โปษยานนท์ (รุ่น 6) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ นายพีร์มีความรู้ทางด้านสถาปนิกได้ปรับรูปลักษณ์ของศาลาฯ โดยยกหลังคาให้สูงขึ้นกว่าเดิม และที่เก็บอัฐิให้เรียบร้อยสวยงามขึ้น ให้ควบคุมการออกแบบและก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2555
การให้ความร่วมมือของผู้สืบตระกูลทุกคนในการพัฒนาและปรับปรุงสุสานโปษยานนท์ในครั้งนี้ เฉพาะอย่างยิ่ง นายชะเรศ และนายพิร์ แสดงถึงความกตัญญูต่อตระกูล ที่สมควรได้รับการสรรเสริญ ขอให้มีแต่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
ประเพณีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
นอกจากบ้านโปษ์กี่แล้ว “สุสานโปษยานนท์” ยังเป็นสถานที่รวมชีวิตจิตใจของทุกคนที่อยู่ในสกุลนี้ ให้สามารถมาร่วมกันแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและได้พบปะสังสรรค์กับผู้ร่วมตระกูลกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในวันที่ 22 ธันวาคมของทุกๆปี
“สุสานโปษยานนท์” อยู่ที่จังหวัดชลบุรี ที่ตำบลหัวโกรก เป็นฮวงซุ้ยที่บรรจุศพแบบจีนของเจ้าสัวล่อแช และคุณอิ่ม (ภรรยา) กับอีกแห่งหนึ่งที่ตำบลหนองเสือตาย เป็นฮวงซุ้ยแบบจีนเช่นกัน แต่เดิมมีอยู่ 2 ฮวงซุ้ย ซึ่งบรรจุศพของหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊) และคุณเสงี่ยม (ภรรยา) กับของพ.อ.ต.พระยาพิพัฒธนากรและภรรยา ส่วนฮวงซุ้ยใหม่ที่ได้สร้างขึ้นสมัยรุ่น 4 บรรจุศพของ นายพิพัฒน์และอัฐิของคุณลินจง (ภรรยา) ส่วนสถูป 3 องค์ บรรจุอัฐิของนายฮง และ ภรรยา หลวงวารีราชายุกต์ (ซิว) และภรรยา และต้นตระกูลภัทรนาวิก คือ พระยาภักดีภัทรากร (เกซัว ภัทรนาวิก) และคุณหญิงเอม ซึ่งเป็นบิดามารดาของนางเสงี่ยม ภรรยาของหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊) และเป็นมารดาของ ม.อ.ต. พระยาพิพัฒนธนากร
ความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษของตระกูล คือ การเคารพเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นประจำทุกปีมิได้ขาด ซึ่งทุกคนในตระกูลจะต้องทำตัวให้ว่างไว้ประมาณ 7 วันของกิจกรรมอันสำคัญนี้ ถึงแม้แต่ลูกหลานที่ยังเยาว์อยู่พ่อแม่ก็ต้องพาไปและใครก็ตามหากขาดกิจกรรมนี้ก็จะโดนตำหนิจาก ม.อ.ต. พระยาพิพัฒนธนากร และญาติผู้ใหญ่
สมัยก่อนการคมนาคมยังไม่สะดวก การเดินทางไปจังหวัดชลบุรีต้องใช้เรือใบหรือเรือแจว และต่อมาก็ได้เปลี่ยนมาเป็นเรือกลไฟ จุดเริ่มเดินทางคือที่ท่าน้ำบ้านโปษ์กี่ โดยใช้เวลาเดินทางเกือบทั้งวันกว่าจะถึงจังหวัดชลบุรี ทั้งเหนื่อยและเมาคลื่นทะเล ถึงแม้ว่าการเดินทางจะอยู่ในช่วงวัน “สารทตั้งเจ้ย” หรือไทยเรียกว่า “สารทขนมอี๋” ซึ่งตรงกับวันที่ 22ธันวาคม และในช่วงของเวลาดังกล่าว คลื่นทะเลในอ่าวไทยสงบที่สุดจึงได้เลือก สารทตั้งเจ้ย แทนสารทเช็งเหม็ง ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เมษายน ซึ่งชาวจีนนิยมไปเซ่นไหว้ฮวงซุ้ยตามประเพณี
เมื่อถึงเมืองชลบุรีแล้วก็ต้องต่อเรือเล็กเพื่อเข้าฝั่งที่สะพานศาลเจ้า และเข้าพักที่บ้านคุณหลวงบำรุงราชนิยม
(สุ้นเป็ง สิงคาลวณิช) ซึ่งเป็นเพื่อนรักสนิทดังญาติของ ม.อ.ต. พระยาพิพัฒนธนากร พวกเราทุกคน (ทายาทรุ่น 4) เรียกท่านว่า “คุณเตี่ย” ซึ่งได้กรุณาให้ที่พักและอาหารทุกมื้อกับคณะกว่า 20 คน นอกจากนั้นยังจัดเครื่องเซ่นไหว้ฮวงซุ้ยและอำนวยความสะดวกทุกอย่างตลอดทุกปี เป็นพระคุณอย่างยิ่งกับตระกูลโปษยานนท์ ซึ่งลูกหลานทุกคนควรต้องจดจำต่อไปชั่วชีวิต
หลังจากที่ได้พักผ่อนจากการเดินทางพอสมควรแล้ว วันรุ่งขึ้นก็จะเป็นวันแรกของประเพณีเซ่นไหว้และจะมีการปฏิบัติตามลำดับ ดังนี้
1.วันแรก จะเซ่นไหว้ฮวงซุ้ยหน้าเมืองริมคลองบางปลาสร้อย ข้างสถานีตำรวจในจังหวัดชลบุรี ห่างจากที่พักประมาณ 2 กิโลเมตร ต้องเดินกันไปเป็นขบวน ฮวงซุ้ยนี้ไม่ทราบแน่นอนว่าเป็นของใคร เพียงแต่คุณหลวงบำรุงราชนิยมได้เล่าให้ฟังว่าเป็นที่บรรจุอฐิของญาติของ คุณเสงี่ยมภรรยาของหลวงวารีราชายุตก์ มารดาของ ม.อ.ต. พระยาพิพัฒนธนากร
2. วันที่สอง ต้องออกเดินทางตั้งแต่เช้า ญาติผู้ใหญ่ใช้เกวียนและม้า ส่วนวัยรุ่นทั้งหลายต้องเดินไปบนทางเกวียน ระยะทางจากที่พักประมาณ 5 กิโลเมตร จุดแรกที่หยุดพักคือ ฮวงซุ้ยล่าง ที่ตำบลหนองเสือตาย แล้วจึงเดินทางต่อไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ไปยังฮวงซุ้ยบน ที่ตำบลหัวโกรก ซึ่งเป็นฮวงซุ้ยของบรรพบุรุษเจ้าสัวล่อแชและภรรยา และฮวงซุ้ยของซินแสจินเต็ก ซึ่งเสียชีวิตระหว่างก่อสร้างฮวงซุ้ยบน รวมทั้งของจีนเก่งซึ่งเป็นเจ้าของที่เดิม หลังจากทำพิธีเซ่นไหว้เสร็จก็ต้องรีบเดินกลับมาที่ฮวงซุ้ยล่าง ที่ตำบลหนองเสือตายเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่เหลือต่อไป
3.ถ้ามีเวลาเหลือก่อนเดินทางกลับ ก็จะแวะที่ศาลเจ้าเจียงกัวแป๊ะ ซึ่งเป็นที่ชาวบ้านเคารพนับถือ เพื่อขอพรก่อนเดินทางกลับที่พักด้วยความอิ่มใจที่เราได้มีโอกาสระลึกถึงพระคุณของผู้เป็นบุพการี และด้วยความกตัญญูที่ได้ให้เราได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในตระกูลโปษยานนท์ ส่วนวันที่เหลือก็จะใช้ในการพบปะสังสรรค์กับญาติ มิตร ที่จังหวัดชลบุรี และพักผ่อน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาทางด้านการคมนาคมในประเทศอย่างกว้างขวาง สามารถเดินทางสู่ “สุสานโปษยานนท์” ได้อย่างสะดวกสบาย กิจกรรมดังกล่าวข้างต้น จึงสามารถดำเนินการได้ภายในหนึ่งวัน ซึ่งในตอนเช้าสามารถทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ในตอนสายมีพิธีทางสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและญาติแล้วเสร็จ ในตอนเที่ยงลูกหลานได้รับประทานอาหารกลางวันและสังสรรค์ร่วมกันก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับในตอนบ่าย